นับถอยหลัง เหลือเวลาอีก 3 เดือนก็จะจบปี 2564 กันแล้ว หลายคนเริ่มวางแผนเรื่องลดหย่อนภาษีกันแล้ว แต่จะลดหย่อนอย่างไรให้ “คุ้ม” ที่สุด วันนี้เราจึงมีทริควางแผนภาษีสำหรับมือใหม่มาแนะนำ เพราะการวางแผนภาษีที่ดี นอกจากจะได้เงินภาษีคืนแล้ว ยังได้ประโยชน์อีก 2 ต่อกันด้วย
:: ใครต้องจ่ายภาษีบ้าง
ทั้งนี้ก่อนไปเริ่มดูทริค มาดูกันก่อนสำหรับ First Jobber ว่ารายได้นั้นถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีหรือเปล่า? โดยบุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายภาษีนั้น หากคุณเป็นคนโสดจะมีเงินได้ทั้งปีมากกว่า 120,000 บาท แต่หากคุณสมรสแล้ว ต้องมีเงินได้มากว่า 220,000 บาท แต่หากรายได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ถ้าไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม้ต้องเสียภาษี
:: How to ลดหย่อนภาษีให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ
- นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม ลดหย่อนก็ได้ แถมได้ลงทุนเพื่ออนาคต
แน่นอนว่าต้องเป็นกองทุนที่ลดหย่อนภาษีได้ นั่นคือกองทุน SSF และกองทุน RMF ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้มีความแตกต่างกัน แต่ละกองทุนจึงเหมาะกับบางคนเท่านั้น นั่นคือ
กองทุน SSF สามารถ้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้กองทุน SSF จะมีเงื่อนไขว่า ต้องลงทุนครบ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
กองทุน RMF สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงเช่นกัน แต่ต้องไม่เกิน 30% ของรายได้เช่นกัน ที่แตกต่างคือให้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนเงื่อนไขของ RMF นั่นคือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีนับแบบวันชนวัน ปีชนปี นอกจากนี้ยังต้องลงทุนต่อเนื่องจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์จึงจะสามารถขายกองทุนนี้ได้ แต่ทั้งนี้สามารถเว้นการซื้อได้ 1 ปี และไม่กำหนเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี
ผลประโยชน์ 2 ต่อของการลงทุนในกองทุนคือ 1. ลดหย่อนภาษีได้ และ 2. ได้ผลตอบแทนจากกองทุนที่เลือกลงทุน แต่ทั้งนี้ผลตอบแทนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกองทุนที่เราเลือกด้วยนะครับ
- นำเงินไปซื้อประกัน ลดหย่อนได้ อุ่นใจด้วย
สำหรับใครวางแผนที่จะซื้อประกัน เพื่อลดหย่อนภาษีนั้นมี 3 ประเภทด้วยกันคือ ประกันที่ลดหย่อนได้คือ ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ และประกันสุขภาพ ทั้งนี้การซื้อประกันเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่งด้วยการโอนความเสี่ยงภัยไปยังบริษัทประกันภัยนั่นเอง
การซื้อประกันให้ ‘คุ้มค่า’ แนะนำให้เลือกซื้อประกันที่ตรงกับ ‘ความจำเป็น’ ของเรา และเลือกซื้อให้คุ้มครองกรณีนั้นๆ ด้วย ไม่ได้มุ่งหวังแค่การลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว
ประกันชีวิตแบบทั่วไป อย่างเช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ฯลฯ ประกันเหล่านี้เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้ โดยเป็นการลดหย่อนที่จ่ายตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนได้จามจริงเช่นกัน แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี เงื่อนไขของประกันบำนาญคือ กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครอบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายเบื้อครบก่อนได้รับผลประโยชน์ และต้องกำหนดช่วงอายุการจ่ายเงินด้วย เป็น 55-58 ปี หรือมากกว่า
ประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท และที่หลายคนไม่ทราบคือ เราสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงอีกด้วย แต่รวมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และพ่อแม่ต้องมีรายได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
ประโยชน์ 2 ต่อของการซื้อประกันคือ 1. ใช้ลดหย่อนภาษีได้ และ 2. มีหลักประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการโอนความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันภัยแทนนั่นเอง
แต่ไม่ว่าคุณจะวางแผนลดหย่อนภาษีแบบไหน สิ่งสำคัญคือการเลือกลดหย่อนที่เหมาะสมและตรงความต้องการ นอกจากนี้ไม่ควรซื้อเยอะเกินความจำเป็น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อแผนการเงินในอนาคตได้