NOTE:
– Hyperloop One ทำความเร็วในการวิ่งได้มากกว่าเดิมถึง 2.7 เท่า (เฟส 1 – 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง : เฟส 2 – 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
– Hyperloop One วิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้นกว่าเดิม 4.5 เท่า (เฟส 1 – 96 เมตร: เฟส 2 – 436 เมตร)
ประเทศไหนที่พัฒนามากเราอาจสังเกตได้จากการคมนาคมของประเทศนั้นๆ ในขณะที่เมืองไทยกำลังจะเชื่อมต่อเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าได้ 10 สายทั่วเมือง เรามาดูที่ต่างประเทศกันบ้างที่พัฒนาระบบขนส่งความเร็วสูงแห่งอนาคตเกือบจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างพร้อมเปิดใช้จริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแน่นอน
ระบบที่ว่านั้นคือ โครงการ Hyperloop One ที่นำออกมาทดสอบวิ่งอีกเป็นครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จในการทดสอบอย่างต่อเนื่องหลังทดลองปล่อยยานพ็อดมุ่งทะยานไปบนรางวิ่ง DevLoop ระยะทาง 500 เมตร ที่ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลทรายเนวาดา เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา และสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยระบบแม่เหล็กที่ใช้ลอยตัวก่อนจะเริ่มเบรกและค่อยๆ ชะลอตัวจนหยุดนิ่งในที่สุด
Rob Lloyd ผู้บริหารสูงสุดของ Hyperloop One บอกว่าพวกเขาเตรียมเข้าไปเจรจากับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการนำเทคโนโลยี Hyperloop One เข้าไปแก้ปัญหาระบบการจราจรของประเทศนั้นๆ ในเชิงพาณิชย์ หลังได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากการทดสอบในครั้งแรก
ผลการทดสอบในครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการทดสอบในครั้งแรกในทุกๆ ด้านอย่างเห็นได้ชัด ไล่ตั้งแต่ความเร็ว, ระยะทาง, แรงขับ และพลังงาน
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พวกเขาเคยผ่านการทดสอบระบบวิ่งแบบสุญญากาศ โดยไร้ยานพาหนะสำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน และทำความเร็วจากการทดสอบวิ่งได้มากถึง 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาแล้ว
รู้จักกับยานพาหนะแห่งอนาคต ‘XP-1’
สำหรับยานพ็อดที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้คือ ‘XP-1’ ซึ่งถือเป็นยานพาหนะเจเนอเรชันแรกของบริษัท Hyperloop One ผลิตขึ้นจากวัสดุจำพวกอะลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ความยาว 8.7 เมตร กว้าง 2.7 เมตรและสูง 2.4 เมตร ทั้งนี้ตัวยานมีขนาดความยาวเพิ่มขึ้นจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาในครั้งแรก 0.2 เมตร
ส่วนหัวยาน (Aeroshell) ผลิตขึ้นจากชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบาแต่ทนทานกว่าเหล็ก ผ่านการทดสอบกับโครงสร้างของยานมานับครั้งไม่ถ้วน
ส่วนตัวถัง (Levitating Chassis) ผลิตขึ้นจากโครงสร้างอะลูมิเนียม อาศัยพลังงานแม่เหล็กให้สามารถลอยตัวและเคลื่อนที่ได้ ด้านการออกแบบถูกดีไซน์ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับรถแข่ง Formula 1 แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ความเบาแต่ทนทานแข็งแรงเหมือนส่วนหัวยาน
มีการเปรียบเทียบข้อมูลทั่วๆ ไประหว่างการทดสอบวิ่งในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม โดยพบว่าผลจากการทดสอบวิ่งในครั้งที่ 2 นี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนี้
– ทำความเร็วได้มากกว่าเดิมถึง 2.7 เท่า (เฟส 1 – 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง : เฟส 2 – 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
– วิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้นกว่าเดิม 4.5 เท่า (เฟส 1 – 96 เมตร : เฟส 2 – 436 เมตร
– แรงขับที่ไกลขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า (เฟส 1 – 30 เมตร : เฟส 2 – 300 เมตร)
– กำลังที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.5 เท่า (เฟส 1 – 891 เเรงม้า : เฟส 2 – 3,151 แรงม้า)
ความสำเร็จจากการทดสอบวิ่งในเฟสสอง แสดงให้เห็นว่า Hyperloop One อาจจะเป็นยานพาหนะความหวังใหม่ในอนาคต ซึ่ง Hyperloop One จะโฟกัสที่การขนส่งสินค้าเท่านั้นในระยะแรก โดยจะวางระบบเชื่อมระหว่างเมืองอาบูดาบี และเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งมีระยะทางประมาณ 125 กม. คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางเพียง 12 นาทีจากปกติ 2 ชั่วโมง และหากทุกอย่างราบรื่นก็จะเริ่มขนส่งผู้โดยสารต่อไป ในอนาคต Hyperloop One ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดที่ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนจะเปิดให้บริการจริงในปี 2021 ความคิดนี้น่าจะไม่ไกลเกินฝัน โดยเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ค่อนข้างมาก และประหยัดเวลามากขึ้นด้วย
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก https://thestandard.co