NOTE:
– จากการคาดการณ์ของ Brand Inside พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (2040) สัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 54
– ในปี 2035 ตลาดรถยนต์ในแถบยุโรปจะเหลือแต่รถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกซื้อเพียงเท่านั้น
– จากการสำรวจขององค์กร WMO ในปี 2016 ที่ผ่านมาพบว่า ในชั้นบรรยากาศของโลกมีความเข้มข้นของก๊าซคาบอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2015 กว่าร้อยละ 50
– ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ ณ ปัจจุบันชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับเข้มข้นที่สุดในรอบ 8 แสนปี
แนวคิดเรื่องรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งในความพยายามของมนุษย์ที่จะทำให้เทคโนโลยีรอบตัวส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ล้วนเป็นตัวเร่งที่ทำให้มนุษย์หยิบยกเอาทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้กันเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เองมนุษย์จึงเริ่มตื่นตัวกับผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา ดังจะเห็นได้จากการเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพหรือพลังงานธรรมชาติเข้ามาช่วยทดแทนอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เป็นต้น
ล่าสุดกลุ่มนักศึกษาจาก “Eindhoven University of Technology” แห่งเนเธอแลนด์ก็ได้ผุดไอเดียที่จะนำวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุดและสามารถปลูกทดแทนได้อย่าง “พืช” มาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต “รถยนต์” ที่เป็นต้นแบบแห่งอนาคตขึ้นมาสักคัน
โดยโปรเจครถยนต์จากธรรมชาติคันนี้ใช้ชื่อเรียกว่า “Lina” ซึ่งเป็นการทดลองนำวัสดุธรรมชาติอย่าง “ต้นฝ้าย” ที่ถือเป็นพืชพื้นเมืองที่มนุษย์ใช้ทำเครื่องนุ่งห่มตั้งแต่ครั้งโบราณ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในโปรเจคนี้ เพราะด้วยความทนทานอีกทั้งยังหาได้ง่ายในแถบยุโรป จึงทำให้ต้นฝ้ายถูกใช้ผลิตเป็นทั้งโครงสร้างภายนอก โครงสร้างภายใน อุปกรณ์ตกแต่ง และชิ้นส่วนอื่นๆร่วมกับวัสดุทางชีวภาพที่มาจากธรรมชาติเช่นเดียวกัน
แต่นั่นล้วนทำให้ผู้คนรอบข้างเกิดความสงสัยว่าโครงสร้างที่มาจากพืชจะแข็งแรงได้อย่างไร? นักศึกษากลุ่มนี้จึงได้ทดลองที่จะนำต้นฝ้ายไปผสมเข้ากับวัตถุดิบชีวภาพชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวโครงสร้าง จนมาลงตัวที่หัวผักกาดหวานซึ่งเป็นพืชที่หาได้ง่ายในประเทศแถบยุโรปและทำให้โครงสร้างของรถยนต์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
และด้วยความที่เป็นรถยนต์จากวัสดุธรรมชาติ จึงทำให้เจ้า Lina มีน้ำหนักที่เบากว่าปกติเมื่อเทียบกับรถยนต์ธรรมดาทั่วไป โดยมีน้ำหนักรวมทั้งคันเพียงแค่ 300 กิโลกรัม ซึ่ง Lina จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันอื่นๆ แต่มีอัตรากินไฟที่ต่ำกว่าอันเนื่องมาจากน้ำหนักที่เบานั่นเอง
https://www.youtube.com/watch?v=K6b6dZWPhxU
ถึงแม้ Lina จะเป็นเพียงโปรเจคเล็กๆ จากกลุ่มนักศึกษา แต่แนวคิดของพวกเขากลับกลายเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างรถยนต์ที่ส่งผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุดในอนาคต ซึ่งไม่แน่ในวันข้างหน้า “พืช” อาจกลายเป็นวัสดุชิ้นสำคัญในการสร้างยวดยานพาหนะของเหล่ามนุษยชาติก็เป็นได้
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.daily.rabbit.co.th, www.inhabitat.com