รีไฟแนนซ์บ้าน

รีไฟแนนซ์บ้านทั้งที เรื่องเหล่านี้ รู้หรือยัง???

ถึงเวลารีไฟแนนซ์บ้านแล้ว แต่รู้หรือยังว่าการรีไฟแนนซ์บ้านมีข้อดี – ข้อเสีย รวมทั้งค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง วันนี้เราสรุปรวบรัดมาให้ เพื่อให้คุณเตรียมพร้อมรีไฟแนนซ์บ้านได้อย่างสบายใจ และสบายเงินในกระเป๋า

:: รู้ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้านหรือยัง

1. จุดประสงค์ของการรีไฟแนนซ์คือเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกกว่า ซึ่งเป็นข้อดีข้อแรกของการรีไฟแนนซ์บ้าน

2. เมื่อผ่อนชำระดอกเบี้ยได้ถูกลง ทำให้ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายต่อเดือนลดลงด้วย ส่งผลให้สบายเงินในกระเป๋ามากยิ่งขึ้น

3. แน่นอนว่าเมื่อได้เงินส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จึงเป็นผลให้มีเงินเหลือใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ มากขึ้น หรือนำเงินส่วนต่างนั้นมาต่อยอดธุรกิจได้

4. ในบางกรณี การรีไฟแนนซ์ยังได้วงเงินกู้มากขึ้นกว่ายอดคงค้างเดิมอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณสามารถนำเงินส่วนต่างนี้ไปลงทุนได้

รีไฟแนนซ์บ้าน

:: เมื่อมีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสีย

1. เพราะการรีไฟแนนซ์ ก็คือการชำระเงินกู้ที่มีในปัจจุบันให้หมดด้วยเงินกู้ใหม่ ดังนั้นเมื่อทำการรีไฟแนนซ์บ้าน จึงทำให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานขึ้น ซึ่งหลายคนอาจมองจุดนี้เป็นข้อเสีย

2. ต้องจัดเตรียมเอกสารใหม่อีกครั้ง ความยุ่งยากอย่างหนึ่งของการรีไฟแนนซ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับรายได้ เอกสารยืนยันตัวตน เป็นต้น หรือการนัดพบกับสถาบันการเงิน เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ

3. มีค่าใช้จ่ายสำหรับการรีไฟแนนซ์ โดยค่าใช้จ่ายนี้เองที่จะช่วยคุณตัดสินใจได้ว่า จะทำการรีไฟแนนซ์บ้านดีหรือไม่ ประกอบด้วย

  • ค่าปรับการคืนเงินก่อนกำหนดตามสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ที่ 2-3% ของวงเงินกู้ทั้งหมด หรือสถาบันการเงินบางแห่งอาจคิดจากมูลค่าหนี้ที่เหลืออยู่
  • ค่าจักการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 0-1% ของวงเงินกู้ใหม่
  • ค่าธรรมเนียมในการจำนอง ส่วนมากจะอยู่ที่ 1% ของราคาประเมิน ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้ต้องจ่ายให้ผู้ให้กู้ใหม่ แต่ในบางกรณีอาจไม่ต้องจ่ายถ้ารีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินเจ้าเดิม
  • ค่าทำประกันอัคคีภัย ที่ต้องจ่ายเป็นเงินประมาณ 2,000 บาทสำหรับบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท
  • ค่าอากรแสตมป์ ประมาณ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่

รีไฟแนนซ์บ้าน

:: 7 สเต็ปการรีไฟแนนซ์บ้านที่ต้องรู้!

สเต็ปที่ 1 : ตรวจสอบสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำที่สุด ในเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยแนะนำให้ตรวจสอบหลายๆ สถาบันการเงินมาเปรียบเทียบกัน

สเต็ปที่ 2 : คำนวณความคุ้มค่า ด้วยการนำ “ค่างวดเก่า” ที่เหลืออยู่ มาเปรียบเทียบกับ “ค่างวดใหม่” ที่คิดจะรีไฟแนนซ์ โดยให้พิจารณาว่า เมื่อรีไฟแนนซ์แล้ว คุณจะประหยัดค่างวดลงได้เท่าไร คุ้มค่าไหม หรือประหยัดมากขึ้นหรือไม่

สเต็ปที่ 3 : ติดต่อกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้เก่า เพื่อขอ Statement สรุปยอดหนี้เงินกู้ พร้อมนำเอกสารนี้ไปทำเรื่องกู้กับสถาบันการเงินใหม่ที่เราจะขอรีไฟแนนซ์

สเต็ปที่ 4 : ทำเรื่องยื่นกู้ เตรียมเอกสารให้พร้อม ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนเดียวกันกับการขอสินเชื่อใหม่ครับ หลังจากนี้ให้รอผลอนุมัติ

สเต็ปที่ 5 : เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ให้ติดต่อสถาบันการเงินเก่า เพื่อนัดเวลาไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดิน หลังจากนั้นให้เราแจ้งยอดหนี้ เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ยจนถึงวันไถ่ถอนแก่สถาบันการเงินใหม่ด้วย

สเต็ป 6 : ติดต่อสถาบันการเงินใหม่ เพื่อนัดวันทำสัญญาและโอนทรัพย์สินที่ใช้จำนอง แนะนำให้นัดวันและเวลาเดียวกันกับสเต็ปที่ 5

สเต็ปที่ 7 : ทำเรื่องโอน ณ สำนักงานที่ดินในเขตที่บ้านเราตั้งอยู่ พร้อมทั้งทำเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เรียบร้อย โดยถ้ายอดกู้สูงกว่ายอดไถ่ถอน สถาบันการเงินใหม่จะออกเช็คให้ 2 ใบ โดยจ่ายให้ธนาคารเก่าหนึ่งใบและอีกหนึ่งใบจ่ายให้เรา

เพียงเท่านี้ก็จบขั้นตอนการรีไฟแนนซ์ครับ แต่ทั้งนี้การตัดสินใจว่าจะรีไฟแนนซ์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย ความคุ้มค่าที่ได้รับ หรือความสะดวกในการดำเนินเรื่อง

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top