ถึงเชียงใหม่รถไฟฟ้าจะยังไม่มาหา แต่ถ้ามีเงิน 20 บาทก็สามารถนั่งซิตี้บัสได้ตลอดสายไปยังจุดหมายที่ต้องการรอบเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะจุดสำคัญอย่างสถานที่ท่องเที่ยว สนามบินหรือห้างสรรพสินค้า ทำให้คุณเดินทางถึงที่หมายได้สะดวกสบายยิ่งขึ้นครับ
RTC City bus แบ่งออกเป็น 3 สาย คือ
R1: สวนสัตว์เชียงใหม่ – เซ็นทรัลเฟสติวัล ( มหาวิทยาลัยเชียงใหม่–เมญ่า–กาดสวนแก้ว–ท่าแพ–อาเขต–เซ็นทรัลเฟสติวัล)
R2: สนามบินเชียงใหม่– พรอมเมนาดา (มหิดล–หนองหอย–พระหฤทัย–ไนท์บาซาร์–คูเมือง–สนามบิน)
R3: สนามบินเชียงใหม่ – กาดหลวง (เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต –นิมมานฯ–กาดสวนแก้ว–เมญ่า–อนุสาวรีย์สามกษตริย์–ท่าแพ–ไนท์บาร์ซ่า–กาดหลวง)
- รถออกทุกๆ 20-30 นาที
- ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.15 สำหรับเส้นทาง R1
- ให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 19.50 สำหรับเส้นทาง R2
- ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 23.30 สำหรับเส้นทาง R3
- ราคา 20 บาทตลอดสาย
รูปแบบการชำระค่าโดยสาร
ผู้ใช้งานสามารถชำระค่าโดยสารได้ 2 วิธีคือ การชำระผ่านบัตร RTC Transit Rabbit Card และการชำระด้วยเงินสดผ่านตู้หยอดเหรียญ โดยไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถ รวมถึงในอนาคตตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2561 เป็นต้นไป จะมีการจำแนกเป็น บัตรนักเรียน บัตรนักท่องเที่ยวรายวัน บัตรรายสามวัน และบัตรประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสารมากขึ้น โดยรถที่นำมาใช้วิ่งตอนนี้มีทั้งหมด 17 คัน / เที่ยวแรกออก 6.00 น. เที่ยวสุดท้ายออก 23.30 น. และมีรถออกทุก 20-30 นาที
หากย้อนกลับไปถึงแผนการดำเนินงานของ City Bus นี้เกิดจากเชียงใหม่ต้องการพัฒนาเมืองเข้าสู่เมือง green mobility เมื่อไหร่ที่ผู้โดยสารใช้งานระบบขนส่งนี้ถึง ร้อยละ 50 ตามเป้า รถยนต์ส่วนบุคคลก็ลดน้อยลงจากท้องถนนเฉลี่ยร้อยละ 20 ทุกวันนี้ใครที่มาเชียงใหม่ ต่างพูดเสียงเดียวกันว่าเข้าใกล้กรุงเทพฯ เข้าไปทุกที กับปัญหาการจราจรสะสมเป็นจำนวนมากบนท้องถนน หากประสบความสำเร็จการจราจรในพื้นที่บริการของ RTC เชียงใหม่จะเริ่มดีขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ประมาณ 950 คน/วัน และวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 1,100 คน/วัน ปริมาณผู้โดยสารมีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
นอกจากนี้คุณยังสามารถดูข้อมูล เส้นทางการเดินรถ หรือจุดจอดได้ผ่านแอปพลิเคชั่น CM Transit by RTC ทางสมาร์ทโฟนคอยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เนื่องจากรถ City Bus นี้จะมีแบบวนซ้ายและวนขวาในเส้นทางเดียวกันแต่ปลายทางต่างกันนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันความสะดวกสบายด้านคมนาคมตอนนี้เริ่มขยายเข้าสู่พื้นที่หัวเมืองใหญ่ของประเทศ อีกไม่นานเราคงได้เห็นจังหวัดต่างๆ มีการพัฒนารูปแบบการเดินทางขยายตัวไปได้ไกลกว่าเดิม จนสามารถแก้ปัญหาเรื่องการจราจรรวมถึงผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน