ในปัจจุบันพอร์ต USB TYPE-C หรือ USB-C ถือว่าเป็นพอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ถูกนำมาใช้เป็นในการถ่ายโอนข้อมูล, จ่ายไฟชาร์จอุปกรณ์หรือ Gadget ต่างๆ และล่าสุดสหภาพยุโรป (European Union) ก็ได้ผ่านร่างกฎหมายบังคับใช้ USB-C เป็นพอร์ตชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ไฟฟ้าพกพาอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2024 ส่งผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้าพกพา เช่น สมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต, แล็ปท็อป, หูฟังไร้สาย, ลำโพงพกพา, คีย์บอร์ด, เมาส์, กล้องดิจิทัล หรืออุปกรณ์อื่นๆ ยกเว้นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ไม่สามารถใส่พอร์ต USB-C ได้ เช่น Smart Watch เป็นต้น
โดยข้อดีของข้อบังคับนี้จะช่วยให้ลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากอุปกรณ์ไฟฟ้าพกพาได้ และยังประหยัดเงินผู้ใช้เพราะสามารถใช้พอร์ต USB-C ชาร์จแบตเตอรี่ได้กับทุกอุปกรณ์โดยไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย
และนอกจากข้อดีเรื่องการลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว พอร์ต USB Type-C หรือ USB-C ยังมีประสิทธิภาพในการใช้งานมากหลายด้านอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- มีขนาดเล็กกว่าพอร์ต USB Type-A หรือ Type-B
- มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถเสียบสลับด้านได้
- ถ่ายโอนข้อมูลได้เร็ว สามารถถ่ายโอนไฟล์ได้สูงสุด 20 Gbps ในเวอร์ชัน USB Type C 3.2 Gen 2×2
- สามารถจ่ายไฟชาร์จแบตเตอรี่ได้มากขึ้น รองรับกำลังไฟได้สูงสุดถึง 240W
- ครอบคลุมการใช้งานหลายรูปแบบ หรือจะเรียกว่า Multi-task ก็ได้ เพราะ USB-C สายเดียวสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งโอนข้อมูล, ชาร์จไฟ และเป็น Display Port เชื่อมต่อจอมอนิเตอร์ได้
ซึ่งความสามารถในการใช้งาน USB Type-C หรือ USB-C ก็ขึ้นอยู่กับประเภทที่เพื่อนๆ เลือกใช้ด้วยเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามนี้ได้เลย
- USB Type-C มาตรฐาน พอร์ตที่สามารถโอนถ่ายข้อมูลได้เร็วสูงสุด 20 Gbps และยังรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าในจำนวนวัตต์มาตรฐานที่ทางผู้ผลิตเลือกใช้ เหมาะสำหรับสมาร์ตโฟนและแท็ปเล็ต
- USB Type-C PD (Power Delivery) เป็นพอร์ตที่มีคุณสมบัติสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้เหมือนพอร์ต USB-C มาตรฐานทั่วไป แต่เพิ่มเติมด้วยคุณสมบัติที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า และรองรับกำลังไฟสูงสุดถึง 240W โดยจะมีสัญลักษณ์PD บ่งบอกอยู่
- USB TYPE-C DP (Display Port) เป็นพอร์ตที่เพิ่มคุณสมบัติการรองรับสัญญาณภาพเพิ่มเติมจากพอร์ตมาตรฐาน ส่วนมากอยู่บนแล็ปท็อปโดยสังเกตสัญลักษณ์อักษรตัว DP บริเวณพอร์ตที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์นี้รองรับการต่อจอภาพได้ ทั้งนี้การเลือกใช้สาย USB-C ก็เป็นส่วนสำคัญ หากสายไม่รองรับการส่งสัญญาณภาพก็ไม่สามารถทำได้ ควรเลือกใช้สายเวอร์ชั่น 3.1 ที่เป็น Full Function ครอบคลุมการส่งสัญญาณจอภาพหรือบางรุ่นชาร์จไฟแบตเตอรี่ได้ในตัว
- Thunderbolt พอร์ตที่เสมือนเป็นฝาแฝดของ USB Type-C หรือ USB-C รูปทรงและหน้าตาคล้ายกัน แถมยังรวบฟังก์ชั่นและความสามารถแบบครอบจักรวาลมาด้วย เพราะไม่ว่าจะพอร์ต Thunderbolt 3 หรือ Thunderbolt 4 ก็มีคุณสมบัติทั้งรับถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 40 Gbps, ชาร์จไฟด้วยกำลังไฟสูงสุด 100W และสามารถส่งสัญญาณภาพต่อจอมอนิเตอร์ระดับ 4K ได้ถึง 2 จอ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในแล็ปท็อปที่มีสัญลักษณ์ Intel Evo หรือสัญลักษณ์สายฟ้าบน MacBook, iMac และ Mac Studio เป็นต้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดกระแสของพอร์ต USB Type-C หรือ USB-C ได้ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งพร้อมกับข่าวลือ iPhone 15 ที่หลายแหล่งข่าวคาดการณ์ว่าจะมาพร้อมกับพอร์ต USB Type-C เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับของสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเพื่อนๆ ก็อาจจะได้เห็นพอร์ต USB-C เป็นครั้งแรกบน iPhone 15
หรือทาง Apple จะฉีกทุกข่าวลือโดยการเปิดตัวพอร์ต USB-C ในรุ่นถัดไปก็เป็นได้ นาทีนี้ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้เต็มร้อยจนกว่าจะถึงงานเปิดตัว iPhone 15 อย่างเป็นทางการ ในช่วงปลายปีนี้นั่นเอง